รู้จัก กรรไกรไฟฟ้า ตัดเหล็ก มีกี่ประเภท แล้วตัดอะไรได้บ้าง?

เวลาพูดถึงเครื่องมือตัดเหล็ก หลายคนมักจะนึกถึงเครื่องเจียร หรือเครื่องตัดไฟเบอร์ใช่ไหมครับ? แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีเครื่องมืออีกประเภทหนึ่งที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่คุ้นเคยนัก แต่ใช้งานได้ดี และปลอดภัยกว่าในหลายกรณี โดยเฉพาะงานตัดแผ่นเหล็กบาง ๆ หรือที่ต้องการแนวตัดที่โค้งเว้า สะอาดเรียบร้อย แล้วเครื่องมือที่ว่า ก็คือ กรรไกรไฟฟ้า ครับ ผมจะพาคุณมารู้จักกับเจ้าเครื่องมือตัวนี้กันแบบละเอียด ตั้งแต่ประเภทต่าง ๆ ไปจนถึงลักษณะงานที่ใช้ได้จริง พร้อมแชร์ประสบการณ์ใช้งานแบบบ้าน ๆ ที่ไม่ต้องเป็นช่างมืออาชีพก็เข้าใจได้

หลายคนอาจจะสงสัยว่า “เอ๊ะ แล้วกรรไกรไฟฟ้ามันดีขนาดนั้นเลยเหรอ?” ผมเองก็เคยตั้งคำถามนี้เหมือนกัน จนมาพบว่า เครื่องมือตัวนี้ช่วยให้การทำงานเร็วขึ้นมาก ยิ่งเวลาต้องตัดแผ่นเหล็กจำนวนมาก หรือตัดเหล็กเส้นในพื้นที่แคบ ๆ

ช่างท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ใช้ เครื่องเจียร ลูกหมู ในการตัดเหล็กเส้น ที่ทั้งเสียงดัง ฝุ่นเยอะ และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ พอเปลี่ยนมาใช้กรรไกรไฟฟ้าแบบสำหรับตัดเหล็กเส้นโดยเฉพาะ ก็ตัดได้เร็วขึ้นกว่าเดิมเยอะ แถมรอยตัดก็เรียบ ไม่ต้องมาเจียรซ้ำ ลดเวลาในการทำงานไปได้เยอะเลยครับ

อีกคนบอกว่า ถ้าเป็นงานที่ต้องตัดเกลียวบ่อย ๆ เช่น งานติดตั้งโครงหลังคา หรืองานซ่อมแซมที่ต้องตัดน็อตเก่าออก การมีกรรไกรไฟฟ้าช่วยให้ทำงานได้คล่องตัวขึ้น ไม่ต้องออกแรงเยอะ ไม่ต้องกลัวสะเก็ดไฟ และไม่ต้องเสียเวลาขัดเกลียวใหม่ ทำให้คุณภาพงานดีขึ้นแบบเห็นได้ชัดครับ

กรรไกรไฟฟ้า คืออะไร? ทำไมต้องใช้?

ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่า กรรไกรไฟฟ้า (Electric Shears) คือเครื่องมือตัดที่ใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อนใบมีดให้ตัดวัสดุออกเป็นชิ้น ๆ คล้ายกับกรรไกรธรรมตัดกระดาษแหละครับ แต่มีพลังมากกว่า ใช้งานต่อเนื่องได้นาน และให้ความแม่นยำสูงกว่าครับ

เครื่องมือนี้ ออกแบบมาให้รองรับงานตัดวัสดุแผ่นที่มีความบาง หรือยืดหยุ่น เช่น แผ่นโลหะบาง พลาสติกแผ่น หรือวัสดุก่อสร้างบางชนิด โดยเฉพาะในงานที่ต้องตัดจำนวนมาก และต้องการความเร็ว รอยตัดที่ได้จากกรรไกรไฟฟ้าจะเรียบ ไม่บิดเบี้ยว และไม่ทำให้วัสดุเสียรูป เหมือนเครื่องมือตัดบางประเภท

อีกจุดที่ทำให้กรรไกรไฟฟ้าน่าสนใจคือความปลอดภัยในการใช้งานครับ เพราะไม่มีสะเก็ดไฟ หรือเสียงดังเหมือนเครื่องเจียร ทำให้เหมาะกับงานภายในอาคาร หรือพื้นที่ปิด และยังลดความเสี่ยงจากเศษวัสดุกระเด็นอีกด้วย

ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดว่าเครื่องมือตัวนี้ใช้กับวัสดุประเภทใดได้บ้าง ผมอยากให้มองภาพรวมอีกนิดนึงครับ ว่า กรรไกรไฟฟ้า ไม่ใช่แค่เครื่องตัดธรรมดา แต่เป็นพระเอกในงานติดตั้ง งานประกอบ และงานผลิตจำนวนมาก เพราะช่วยลดเวลาตัดได้หลายเท่า ที่สำคัญยังให้ความปลอดภัย และควบคุมคุณภาพรอยตัดได้ดีกว่าเครื่องมือตัดอื่นๆ

ตัวอย่างวัสดุที่กรรไกรไฟฟ้ารองรับได้ดี: 

  • แผ่นเหล็กบาง และเหล็กเคลือบ
  • แผ่นอลูมิเนียมและสังกะสี
  • แผ่นสแตนเลสบาง
  • ไฟเบอร์กลาส, พลาสติก PVC และวัสดุแผ่นทั่วไป
  • แผ่นฉนวนหรือโฟมบางชนิด 

ไม่ว่าจะเป็นงานเหล็ก งานอลูมิเนียม งานตกแต่งภายใน หรืองานแผ่นวัสดุเบาอย่างพลาสติก กรรไกรไฟฟ้า ก็ตอบโจทย์ได้หลากหลายมากครับ ยิ่งถ้าเลือกรุ่นที่เหมาะกับวัสดุ จะช่วยให้เราทำงานได้ไวขึ้น ไม่เมื่อยล้า และลดต้นทุนการซ่อมแซมจากรอยตัดพลาดได้ด้วย

กรรไกรไฟฟ้า มีกี่ประเภท?

จริง ๆ แล้วถ้าแบ่งตามการใช้งานกับวัสดุ และลักษณะการตัด ก็สามารถแบ่ง กรรไกรไฟฟ้า ออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ครับ แต่ละแบบก็จะมีความสามารถที่ต่างกันไป ทั้งในเรื่องของประเภทวัสดุที่สามารถตัดได้ ความแม่นยำของแนวตัด และความสะดวกในการใช้งานในสถานการณ์ต่าง ๆ

การเลือกใช้กรรไกรไฟฟ้าให้เหมาะกับลักษณะงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเลือกผิดประเภท อาจทำให้เครื่องทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เกิดความเสียหายต่อวัสดุ หรือส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานได้เลยครับ

เดี๋ยวเรามาดูกันครับว่า กรรไกรไฟฟ้า แต่ละประเภทมีลักษณะการทำงานอย่างไร และเหมาะกับการใช้งานแบบไหนบ้าง

1. กรรไกรไฟฟ้าแบบใบมีด (Shear)

ประเภทนี้เป็นรุ่นพื้นฐาน ใช้ใบมีดคู่ (Double-Cut) เลื่อนไปมาคล้ายกรรไกรปกติ เหมาะกับการตัดแผ่นเหล็กตรง ๆ ได้สวยงาม เป็นแนวยาว และตัดได้ไวมากเหมาะกับงานแผ่นเหล็กเคลือบ แผ่นอลูมิเนียม สังกะสี ที่ไม่หนาเกินไป (ประมาณ 1.5-2.0 มม. ขึ้นอยู่กับรุ่น) โดยลักษณะของใบมีดคู่จะช่วยให้แรงตัดกระจายเท่ากัน รอยตัดไม่เบี้ยว และไม่ทำให้ขอบแผ่นเกิดครีบ หรือเสี้ยน

นอกจากนี่ ยังมีรุ่นที่เป็นใบมีดเดี่ยว (Single-Cut) ซึ่งต่างจากใบมีดคู่ตรงที่มีน้ำหนักเบากว่า เคลื่อนไหวคล่องตัวกว่า และเหมาะกับวัสดุที่บางมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการตัดเหล็กที่มีความหนาหรือแข็งมากขึ้น เช่น แผ่นเหล็กรีดร้อน หรือสแตนเลส แนะนำให้ใช้รุ่นใบมีดคู่ หรือแบบตัดเฉือนจะเหมาะสมกว่า เพราะใบมีดเดี่ยวมีข้อจำกัดเรื่องแรงตัด และอาจสึกหรอได้ไวถ้าใช้งานเกินกำลังครับ

ข้อดี:

  • ตัดตรงเร็ว
  • รอยตัดสะอาด เรียบ ไม่มีครีบ
  • คุมเครื่องง่าย

ข้อจำกัด:

  • ไม่เหมาะกับการตัดโค้งหรือตัดในมุมแคบ

2. กรรไกรไฟฟ้าแบบตัดเฉือน (Nibblers)

อันนี้น่าสนใจมากครับ เพราะมันไม่ได้ใช้ใบมีดแบบกรรไกร แต่เป็นกลไกคล้ายหมัดเจาะแผ่น ทำให้สามารถตัดวัสดุออกเป็นเส้นได้ทั้งแบบตรง และโค้ง เส้นตัดจะเว้าเล็กน้อยจากการตัดเฉือน เหมาะกับงานตัดแผ่นเหล็กที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น งานทำฝ้าเพดาน งานตัดเหล็กขึ้นรูป หรืองานเจาะช่อง

ข้อดี:

  • ตัดได้ทั้งตรง และโค้ง
  • คุมทิศทางได้ดี
  • เหมาะกับงานดีไซน์ซับซ้อน

ข้อจำกัด:

  • รอยตัดจะมีรอยเว้าตามลักษณะการเฉือน
  • มีเศษเหล็กหลุดออกเป็นเศษวงกลมเล็ก ๆ ต้องระวังเรื่องความสะอาด และปลอดภัย 

3. กรรไกรตัดเหล็กเส้น และเกลียว (Rebar /Threaded Rod Cutter)

กรรไกรไฟฟ้าประเภทนี้ออกแบบมาเฉพาะสำหรับตัดวัสดุที่เป็นเหล็กเส้น เช่น เหล็กข้ออ้อย เหล็กกลม รวมถึงน็อต และมีแบบเฉพาะสำหรับเกลียวต่าง ๆ ซึ่งจะตัดวัสดุเฉพาะได้โดยไม่ต้องใช้แรงมาก ตัวเครื่องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับชุดใบมีดที่แข็งแรงมาก สามารถตัดเหล็กเส้นขนาด 10-16 มม. ได้สบาย ๆ แถมยังตัดได้เร็วเพียงไม่กี่วินาที เหมาะกับงานก่อสร้าง งานเหล็กเสริม งานคอนกรีต หรืองานซ่อมแซมที่ต้องตัดเกลียวออกจากโครงสร้างเดิม

ข้อดี:

  • ตัดเหล็กเส้น และเกลียวได้รวดเร็ว ไม่ต้องใช้เครื่องเจียร
  • ได้รอยตัดที่ตรง ปลายไม่บาน ไม่เสียรูป
  • ลดแรงงานคน ประหยัดเวลาในไซต์งานก่อสร้าง

ข้อจำกัด:

  • มีน้ำหนักมากกว่าแบบมีดและแบบเฉือน
  • ใช้ได้เฉพาะงานตัดเหล็กเส้น ไม่เหมาะกับแผ่นโลหะ หรือวัสดุบาง

แล้วกรรไกรไฟฟ้า ใช้ตัดอะไรได้บ้าง?

อันนี้เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยครับ เพราะชื่อมันคือ “กรรไกรไฟฟ้า” แต่ความจริงมันใช้ตัดวัสดุได้หลากหลายมาก โดยเฉพาะพวกแผ่นโลหะ ซึ่งผมจะแบ่งออกเป็นประเภทวัสดุให้ดูกันชัด ๆ นะครับ

1. แผ่นเหล็กทั่วไป (Mild Steel/Galvanized Steel)

นี่คือวัสดุที่เจอบ่อยที่สุดในการใช้งานกรรไกรไฟฟ้าเลยครับ ทั้งเหล็กแผ่นบางทั่วไป ไปจนถึงเหล็กชุบสังกะสีที่ใช้ในงานโครงหลังคา งานท่อ หรืองานประกอบชิ้นส่วนเหล็กเบาในโรงงาน โดยเฉพาะเวลาต้องการความรวดเร็ว และแนวตัดที่เรียบร้อย ไม่เสียรูปวัสดุ

การใช้กรรไกรไฟฟ้าสำหรับตัดแผ่นเหล็กเหล่านี้ จะช่วยลดปัญหาสะเก็ดไฟ และเสียงดังที่มากับเครื่องเจียรแบบเดิม อีกทั้งยังควบคุมทิศทางการตัดได้ง่ายกว่า เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ปิด หรืองานที่ต้องเน้นความสะอาดของขอบตัด

  • ลดเสียงดัง และสะเก็ดไฟเมื่อเทียบกับเครื่องเจียร
  • ได้แนวตัดตรง และคม ไม่ต้องเจียรซ้ำ
  • ควบคุมแนวตัดได้แม่นยำแม้เป็นแผ่นใหญ่
  • ลดโอกาสเสียรูปหรือบิดเบี้ยวของวัสดุ

2. แผ่นอลูมิเนียม

อลูมิเนียมบางคนใช้เลื่อย หรือเครื่องเจียรตัด ซึ่งก็ตัดได้ครับ แต่มีปัญหาคืออาจจะคุมแนวตัดยาก และเสี่ยงที่แผ่นจะเบี้ยว หรือเกิดความร้อนสะสมที่ขอบตัดจนทำให้เกิดรอยไหม้ หรือเสียรูปทรงได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าเป็นแผ่นอลูมิเนียมที่มีความบางมาก ๆ หรือใช้ในงานตกแต่ง

ถ้าใช้ กรรไกรไฟฟ้า จะตัดง่ายกว่าเยอะ ได้แนวที่แม่นเป๊ะ ไม่ทำให้ขอบแผ่นเบี้ยว และยังปลอดภัยกับผู้ใช้มากกว่าด้วย ทั้งในแง่ของการควบคุมเครื่อง และลดความเสี่ยงจากสะเก็ดโลหะ หรือเสียงดังรบกวน

  • ตัดได้แนวตรงและโค้งได้ตามต้องการ
  • ลดโอกาสที่ขอบแผ่นจะเบี้ยวหรือเสียรูป
  • ไม่เกิดสะเก็ดไฟ หรือความร้อนสะสม
  • รอยตัดเรียบร้อย ไม่ต้องเจียซ้ำ

3. แผ่นสแตนเลส

อันนี้ต้องเลือกรุ่นที่รองรับการตัดสแตนเลสโดยเฉพาะนะครับ เพราะสแตนเลสแข็ง และเหนียวกว่าพวกเหล็กทั่วไป ถ้าฝืนใช้ อาจทำให้ใบมีดพังไวได้ หรือเครื่องรับแรงไม่ไหว ทำให้งานล่าช้า และเสี่ยงต่อความเสียหายกับตัวเครื่อง แต่ถ้าใช้รุ่นที่เหมาะ มันจะตัดสวยมากครับ โดยเฉพาะแผ่นบางสำหรับพวกงานตกแต่งที่ต้องการความเรียบร้อยสูง

กรรไกรไฟฟ้าที่ออกแบบมาสำหรับตัดสแตนเลสจะใช้วัสดุใบมีดที่แข็งแรงพิเศษ เช่น HSS หรือวัสดุเคลือบแข็ง เพื่อให้ทนแรงเสียดทานได้ดี และไม่สึกหรอง่าย ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากสำหรับช่างที่ต้องตัดสแตนเลสเป็นประจำ

  • ได้รอยตัดเรียบ ไม่บิดเบี้ยว
  • ลดปัญหาใบมีดสึกไวหรือบิ่น
  • ควบคุมแนวตัดแม่นยำโดยไม่ต้องออกแรงมาก
  • เหมาะกับงานตกแต่งที่ต้องการคุณภาพรอยตัดสูง

4. ไฟเบอร์กลาส และพีวีซีแผ่น

ถ้าเป็นงานตัดวัสดุที่ไม่ใช่โลหะ เช่น แผ่นไฟเบอร์กลาส พีวีซี หรือวัสดุแผ่นเบา ๆ ที่ต้องการตัดเรียบ ๆ ไม่ให้แตก หรือหักกลางงาน ก็ใช้กรรไกรไฟฟ้าได้เหมือนกันครับ แต่ควรเลือกใบมีดให้เหมาะ เช่น ใช้แบบใบเดี่ยว หรือกรรไกรไฟฟ้าตัดเฉือนจะดีที่สุด

วัสดุเหล่านี้มักจะมีความเปราะบาง หรือต้องการรอยตัดที่ประณีต ยิ่งถ้าใช้เครื่องมือที่แรงเกินไป เช่น เลื่อยวงเดือน หรือเครื่องเจียร มันก็อาจทำให้วัสดุแตก หรือขอบบิ่นได้ง่าย การเลือกกรรไกรไฟฟ้าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียหายของวัสดุเหล่านี้

  • อย่ากดเครื่องแรงเกินไป เพราะวัสดุอาจแตก หรือฉีกขาด
  • ควรทดลองตัดบนแผ่นเศษก่อน เพื่อเช็กแนวตัด และแรงกด
  • เลือกใบมีดให้เหมาะกับวัสดุนั้น ๆ เช่น ใบมีดสำหรับพลาสติก หรือวัสดุนิ่ม
  • หลีกเลี่ยงการใช้ความเร็วการตัดสูงเกินความจำเป็น เพราะอาจทำให้ขอบละลาย หรือไหม้

สรุป

กรรไกรไฟฟ้า เป็นเครื่องมือที่หลายคนมองข้าม แต่จริง ๆ แล้วมันใช้งานได้หลากหลายมาก ครับยิ่งในงานตัดแผ่นเหล็กที่ต้องการความเรียบร้อย สะอาด และปลอดภัย ด้วยประเภทที่มีทั้งใบมีดคู่ แบบเฉือน และแบบใบเดี่ยว ทำให้สามารถเลือกใช้งานได้ตามลักษณะงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง ติดตั้ง งาน DIY หรืองานตกแต่ง

ใครที่ยังไม่เคยลองใช้ ผมอยากแนะนำให้หาโอกาสลองดูครับ แล้วจะรู้ว่า กรรไกรไฟฟ้า ไม่ใช่แค่เครื่องตัดธรรมดา แต่มันคือผู้ช่วยชั้นดีของคนทำงานเหล็กเลยจริง ๆ

What do you think?

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Loading…

0

เลือก เลื่อยสายพาน ให้ตรงกับงานของคุณ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด?